ข้อเสนอ หลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตก่อนเกษียณ

ข้อเสนอ หลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตก่อนเกษียณ

ตามเป้าหมายของ มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2565 เรื่อง หลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ซึ่งได้รับฉันทมติจากทุกภาคส่วนในสังคมว่าประเทศไทยมีความจำเป็น และมีความพร้อมที่จะดำเนินการขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรม ดังนี้ 1. การพัฒนาผลิตภาพประชากร เช่น มีนโยบายขยายอายุการเกษียณจาก 60 เป็น 65 ปี ให้ผู้สูงวัยที่ยังมีศักยภาพในการทำงานสามารถกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ โดยเพิ่มมาตรการจูงใจผู้ประกอบการ มีการจัดฝึกอบรม Re-Skill / Up-Skill เพื่อเติมองค์ความรู้และทักษะการทำงานที่เหมาะสมให้กับผู้สูงวัย เป็นต้น 2. การออมระยะยาว เช่น ให้มีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ เพื่อให้เกิดระบบการออมเงินอย่างถ้วนหน้า เพิ่มปริมาณการออมภาคสมัครใจ โดยยกระดับกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) จูงใจให้ประชาชนสมัครเข้าเป็นสมาชิกตั้งแต่อายุไม่มากเพื่อได้รับเงินตอบแทนในบั้นปลายที่มากขึ้น รวมไปถึงการทำพันธบัตรป่าไม้ โดยนำพื้นที่มาปลูกไม้ยืนต้น และนำต้นไม้ไปขายเป็นพันธบัตรกับนักลงทุนในต่างประเทศได้ ตลอดจนแนวคิดการขายคาร์บอนเครดิตในแรงงานภาคการเกษตร เป็นต้น 3. เงินอุดหนุนและบริการสังคมที่จำเป็นจากรัฐ เช่น นโยบายเงินบำนาญผู้สูงอายุแบบถ้วนหน้า เดือนละ 3,000 บาท และเพิ่มขึ้นตามระดับอายุตามภาระการดูแลสุขภาพที่มากขึ้น นโยบายการให้เงินผ่าน Digital Wallet สำหรับทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปจะได้รับ 10,000 บาท เพื่อนำไปใช้จ่ายร้านค้าใกล้บ้านภายในระยะเวลา 6 เดือน เพื่อเพิ่มเม็ดเงินในการหมุนเวียนเศรษฐกิจ การจัดสรร งบประมาณเพื่อปรับปรุงที่อยู่อาศัย เพื่อป้องกันการพลัดตกหกล้มในผู้สูงวัยให้บ้านละ 5 หมื่นบาท รวมถึงการจัดตั้งธนาคารหมู่บ้านหรือธนาคารชุมชน ด้วยเงินหมุนเวียนแห่งละ 2 ล้านบาท ภายใต้เงื่อนไขในการนำเงินไปใช้เพื่อการประกอบอาชีพ เป็นต้น 3. การเข้าถึงหลักประกันสุขภาพ และ Long-term care เช่น ปฏิรูปให้เกิดความชัดเจนโดยแยกระบบดูแลสุขภาพออกจากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ไปอยู่ภายใต้การบริหารของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แห่งเดียว การตั้งกองทุนดูแลผู้สูงอายุระยะยาวโดยให้คนละ 9,000 บาทต่อเดือน ยกระดับการใช้ระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ในทั่วประเทศ โดยมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เป็นหัวใจหลัก การให้กรมธรรม์ประกันชีวิตจำนวน 1 แสนบาทกับผู้สูงวัยทุกคน พร้อมเป็นแหล่งเงินที่สามารถกู้ยืมมาใช้ในระหว่างดำรงชีวิตอยู่ได้ เป็นต้น 4. การดูแลโดยครอบครัว ชุมชน และท้องถิ่น เช่น นโยบายการจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุในทุกหมู่บ้าน โดยมีเงินอุดหนุนปีละ 3 หมื่นบาท วางเป้าหมายสร้างอาสาสมัครบริบาลในท้องถิ่น รวม 1 แสนอัตรา เพื่อมาช่วยดูแลผู้ป่วยติดเตียง การจัดตั้งสถานชีวาภิบาลเพิ่มขึ้นเพื่อดูแลผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพ รวมถึงการเพิ่มค่าตอบแทนให้กับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นต้น เป้าหมายเพื่อนำไปสู่ 'ระบบหลักประกันรายได้' ภายใต้ 5 เสาหลัก ได้แก่ 1. การพัฒนาผลิตภาพประชากร การมีงานทำ และมีรายได้จากการทำงานที่เหมาะสมตลอดช่วงวัย 2. การออมระยะยาวเพื่อยามชราภาพที่ครอบคลุม เพียงพอ และยั่งยืน 3. เงินอุดหนุนและบริการสังคมที่จำเป็นจากรัฐ 4. การเข้าถึงหลักประกันสุขภาพโดยเฉพาะบริการสุขภาพระยะยาว (Long-term care) 5. การดูแลโดยครอบครัว ชุมชน และท้องถิ่น ***ข้อเสนอโดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมกับสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) สภาองค์กรของผู้บริโภค และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)

Points

Back to group

This content is created by the open source Your Priorities citizen engagement platform designed by the non profit Citizens Foundation

Your Priorities on GitHub

Check out the Citizens Foundation website for more information