ข้อเสนอ TDRI สำหรับพรรคการเมือง ต่อนโยบายสนับสนุน SMEs

ข้อเสนอ TDRI สำหรับพรรคการเมือง ต่อนโยบายสนับสนุน SMEs

มีพรรคการเมืองที่เสนอนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพียง 2 พรรคเท่านั้น โดยในภาพรวมนโยบายให้ความสำคัญกับ 4 เรื่องหลัก ได้แก่ การให้เงินทุนแก่ SMEs การยกเว้นและลดภาษีเงินได้ การเพิ่มช่องทางการขายสินค้าและบริการ และการปรับแก้กฎหมายเพื่อช่วยปลดล็อคการประกอบธุรกิจของ SMEs อย่างไรก็ตามยังไม่มีพรรคการเมืองใดที่มีนโยบายชัดเจนในการช่วย “เพิ่มผลิตภาพ” ซึ่งจะสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ในระยะยาว นโยบายตั้งกองทุนเพื่อให้เงินทุนแก่ SMEs ของบางพรรคการเมืองน่าจะถูกเสนอขึ้นเพื่อสนองต่อ SMEs จำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญ อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน มีความพยายามช่วยเหลือด้านสินเชื่อให้แก่ SMEs จากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น SME Bank บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และธนาคารพาณิชย์หลายแห่งอยู่แล้ว แต่ SMEs จำนวนมากก็ยังไม่สามารถผ่านเกณฑ์ที่กำหนด จึงเข้าไม่ถึงเงินทุน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีผลประกอบการไม่ดีและเสี่ยงที่สินเชื่อจะกลายเป็น NPL ส่วนนโยบายการเพิ่มลูกค้าให้แก่ SMEs ไม่ว่าจะเป็น “หวย SMEs” หรือการกำหนดให้การซื้อสินค้าจาก SMEs สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ และการให้คูปองแลกซื้อสินค้าท้องถิ่น อาจเพิ่มรายได้ให้แก่ SMEs ได้บ้าง แต่ก็จะเป็นการช่วยเหลือ SMEs ในระยะสั้นเท่านั้น โดยไม่สามารถทำได้ในระยะยาวเพราะจะต้องใช้งบประมาณมาก เช่นเดียวกันกับโครงการที่ผ่านมาของรัฐบาลประยุทธ์ ทั้งโครงการ “คนละครึ่ง” ที่เคยช่วยกระตุ้นรายได้ของ SMEs ในช่วงสั้นๆ ที่โควิด-19 ระบาด หรือโครงการ “ช้อปดีมีคืน” ที่มีผลช่วย SMEs ไม่มากเพราะ SMEs ที่มีรายได้ไม่ถึง 1.8 ล้านบาทต่อปีไม่สามารถออกใบกำกับภาษีได้ ส่วน SMEs ที่เหลือเกือบทั้งหมดก็ถูกกีดกันออกจากโครงการ “ช้อปดีมีคืน” ในส่วนที่ต้องออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีเฉพาะธุรกิจใหญ่เท่านั้นที่สามารถทำได้ นโยบายช่วยเหลือ SMEs ที่พรรคการเมืองและรัฐบาลใหม่ควรพิจารณา ควรมุ่งช่วยเหลือให้ SMEs สามารถเพิ่มผลิตภาพในด้านต่างๆ ทั้งด้านการผลิต การบริหารคลังสินค้า การใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีสมัยใหม่ การทำบัญชี การตลาดและการส่งออก อย่างไรก็ตาม SMEs แต่ละแห่งมีจุดอ่อนที่แตกต่างกัน แนวทางสนับสนุน SMEs ที่เราแนะนำคือ การใช้ระบบ “วินิจฉัยธุรกิจ” คล้ายกับระบบ “ชินดัง” (Shindan) ของญี่ปุ่น โดยให้ผู้เชี่ยวชาญทั่วไปเข้าไปวินิจฉัย SMEs แต่ละแห่งว่ามีจุดอ่อนในด้านใด หลังจากนั้นก็ให้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้าไปให้คำปรึกษาในเชิงลึกจนสามารถช่วยให้ SMEs มีผลิตภาพเพิ่มขึ้น ทั้งนี้รัฐบาลควรให้การสนับสนุนบางส่วนในรูปของ “คูปองเพิ่มผลิตภาพ” (Productivity Coupon) และให้ SMEs ออกเงินสมทบบางส่วนด้วย ทั้งนี้เมื่อ SMEs สามารถเพิ่มผลิตภาพได้แล้ว ก็จะมีกำไรเพิ่มขึ้น และสามารถเข้าถึงสินเชื่อและเงินทุนได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากรัฐบาลสนับสนุนให้ใช้กลไกประกันสินเชื่อของ บสย. ประกอบด้วย เราเห็นด้วยกับข้อเสนอของพรรคการเมืองในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจของ SMEs โดยเฉพาะการปลดล็อคกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อธุรกิจต่างๆ โดยเสนอให้ใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “การกิโยตินกฎหมาย” ซึ่งเคยใช้ได้ผลในต่างประเทศและบางหน่วยงานในประเทศไทยมาแล้วเช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงาน กลต. นอกจากนี้ควรป้องกันไม่ให้ธุรกิจขนาดใหญ่เอาเปรียบ SMEs โดยบังคับใช้ประกาศเรื่อง “แนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่เป็นธรรมเกี่ยวกับระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า (Credit Term) กรณีผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นผู้ขายสินค้าหรือบริการ” ให้เกิดประสิทธิผล เพื่อให้ SMEs ได้รับรายได้เร็วขึ้นและมีสภาพคล่องทางการเงินที่ดีขึ้น ที่มา : https://tdri.or.th/2023/03/political-partiess-policies-economic/

Points

Back to group

This content is created by the open source Your Priorities citizen engagement platform designed by the non profit Citizens Foundation

Your Priorities on GitHub

Check out the Citizens Foundation website for more information